10 สิงหาคม 2557

NEC-CU #10.1 ภาษี กับ SME

21:46 Posted by attaphon singhakiree No comments
เนื้อหาเรื่องภาษี ผมจะสรุปจากสิ่งที่เรียนมาในห้อง NEC 56 ผสมกับการไปหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องของภาษีในเวปไซต์ต่างๆ  พยายามเอามาสรุปให้เข้าใจง่ายสุดๆ และเนื่องจากเนื้อหามันค่อนข้างเยอะ จึงจะตัดตอนแบ่งออกเป็นหลายๆ บทความ  จะได้ไม่มึนกันไปก่อน


เรื่องของภาษีกับธุรกิจของเรา  เป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ  เพราะถ้าเราส่งภาษีไม่ถูกต้อง สรรพกรผู้น่ารักอาจจะมาปรับเราหนัก  ซึ่งความยุ่งยากของเรื่องภาษี นอกจากจะต้องมาตีความ ภาษาไทยเข้าใจยาก ให้กลายเป็น ภาษาไทยเข้าใจง่ายแล้ว เพราะว่าอ่านคำจำกัดความของภาษีแต่ละข้อ แล้วต่อมาตีความหมายอีก (  เฮ่ออ ...  น้องๆ วิชากฎหมายเลย )  เราต้องดูว่าเราควรจะวางแผนเสียภาษีแบบใหน ให้เหมาะกับขนาดของธุรกิจที่เราทำครับ

เรามาเริ่มต้นจากประเภทของแบบการเสียภาษีดีกว่าครับ  แบ่งออกเป็นสองแบบคือ ภาษีแบบบุคคลธรรมดา  และ ภาษีแบบนิติบุคคล 

แบบบุคคลธรรมดา(ไม่จดทะเบียน)

1) ธุรกิจเจ้าของคนเดียว
ธุรกิจเจ้าของคนเดียว คือ ธุรกิจที่ดำเนินการโดยมีคนๆเดียวเป็นคนจัดการธุรกิจทั้งหมด การดำเนินงานนั้นถ้าทำได้ดีแล้วได้กำไร ก็ได้รับเงินคนเดียวไปเต็มๆ แต่ถ้าดำเนินงานแล้วขาดทุน เขาก็เจ็บไปคนเดียวเหมือนกัน

การดำเนินงานของ "เจ้าของคุณเดียว" ก็จะไม่ซับซ้อน ไม่ต้องงบการเงินส่งให้หน่วงงานต่างๆ ให้ยุ่งยาก เพียงแค่เก็บหลักฐานการทำธุรกิจต่างไว้ให้ดีเผื่อสรรพกรเรียกตรวจตอนยื่นภาษี ธุรกิจเข้าของคนเดียวจะมีความคล่องตัวในการตัดสินใจทำเรื่องต่างๆ แต่ก็มีข้อเสียในแง่มุมมองของสถาบันการเงินเวลาเราไปขอกู้เงินมาทำธุรกิจเพิ่ม ธนาคารไม่ค่อยจะเชื่อถือแล้วก็ปล่อยกู้ยาก กิจการประเภทนี้มีอยู่มาก ตัวอย่างเช่น ร้านค้าปลีก ร้านค้าส่ง ร้านเสริมสวย ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ร้านขายข้าว ร้านขายก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ

2) ห้างหุ้นส่วน (แบบไม่ได้จดทะเบียนนิติบุคคล) 
  • ห้างหุ้นส่วน
ห้างหุ้นส่วน คือ บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาร่วมกันทำธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งผลกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน เมื่อธุรกิจนั้นดำเนินงานแล้วได้ "กำไร" ก็จะมาแบ่งกัน แต่ถ้าหาก "ขาดทุน"แล้ว ผู้ที่เป็นหุ้นส่วนทุกคนก็ต้องรับผิดชอบใน หนี้สินที่เกิดทั้งหมดโดยไม่จำกัดจำนวน

เช่น พี่เสือและพี่หมี ร่วมกันลงทุนทำธุรกิจร้านขนมปังเมพขิงๆ วันดีคืนดี เกิดไฟไหม้ร้านขึ้นมา ค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่เกิดขึ้นนี้ พี่เสือและพี่หมีต้องร่วมกันชดใช้ทั้งหมด
  • คณะบุคคล : 
คณะบุคคล คือ บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ไปขอทะเบียนที่สรรพากร เพื่อขึ้นเป็นหน่วยภาษีขึ้นมาใหม่ แล้วก็กลับมาทำธุรกิจร่วมกัน แต่ไม่มีวัตถุประสงค์แบ่งผลกำไรที่ได้จากการดำเนินงาน

ถ้าถามว่า คณะบุคคล กับห้างหุ้นส่วน แตกต่างกันยังไง คำตอบคือ ต่างที่ "วัตถุประสงค์การจัดตั้ง"ครับ คณะบุคคลนั้นจัดตั้งมาโดยไม่แบ่งผลกำไรที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน แต่ในชีวิตจริง ถ้าทำธุรกิจแล้วมีกำไร เขาก็แบ่งกำไรกัน ไม่ว่าจะเป็นห้างหุ้นส่วนหรือคณะบุคคลก็ตาม

+++++++++ บุคคลธรรมดา เนื้อหาจบเพียงแค่นี้ครับ +++++++++

แบบนิติบุคคล ( พวกที่ไปจดทะเบียนกับกรมการค้าฯ และกรมสรรพกร)

1) ห้างหุ้นส่วนจำกัด (นิติบุคคล)

รูปแบบการทำธุรกิจนี้ คือเป็น "ห้างหุ้นส่วน" ที่ไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล 

โดยจะประกอบด้วยคนที่เป็น หุ้นส่วน 2 ประเภท
  • หุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดชอบ พวกนี้จะมีสิทธิในการบริหารงาน ดำเนินงานในธุรกิจทั้งหมด แต่เวลาธุรกิจมีปัญหา หุ้นส่วนพวกนี้จะรับเต็มๆ เจ็บหนัก เพราะรับผิดชอบหนี้สินแบบไม่จำกัด เรียกได้ว่าเต็มที่กับชีวิต
  • หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดชอบ พวกนี้จะไม่มีสิทธิเข้าไปบริการการดำเนินงาน แต่มีข้อดีคือมีความปลอดภัยในเวลาธุรกิจมีปัญหา หุ้นส่วนประเภทนี้จะชดใช้หนี้สินเพียงแค่เท่าทุนที่ลงไปห้างหุ้นส่วน จะมาเก็บเงินเพิ่มจากพวกเขาอีกไม่ได้

2) บริษัทมหาชน (นิติบุคคล)


คือบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยมีบุคคลตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตกลงปลงใจเข้าร่วมทุนโดยกำหนดทุนออกเป็นหุ้น รวมถึงกำหนดมูลค่าหุ้นไว้ชัดเจนด้วย ในส่วนของเรื่องชื่อจะใช้คำนำหน้าว่า "บริษัท" และคำว่า "จำกัด" ต่อท้ายชื่อ 

เช่น บริษัทคุณหมีนำโชคจำกัด ในส่วนของการรับผิดชอบของผู้ถือหุ้น จะรับผิดชอบเท่ากับมูลค่าหุ้นในส่วนที่ชำระไปแล้วเท่านั้น เช่น คุณแมวเหมียวลงทุนเป็นหุ้นในบริษัทคุณหมีนำโชคเป็นเงิน 1 แสนบาท เกิดบริษัทเจ๊งขึ้นมาต้องชำระหนี้สิน 10 ล้านบาท คุณแมวเหมียวก็รับผิดชอบแค่มูลค่าหุ้นคือ 1 แสนบาทเท่านั้น

ข้อดีของบริษัทคือการระดมทุนได้ง่าย ธนาคารจะปล่อยกู้ง่ายกว่าเพราะการเป็น"บริษัท" นั้นดูน่าเชื่อถือ แต่ความยากของการจดเป็นบริษัทก็มี เช่น ทุนที่ใช้ในการจดทะเบียนจะมากกว่าแบบอื่นๆ ขั้นตอนในการจดมีความยุ่งจากกว่าจดแบบอื่นๆ

3) กิจการร่วมค้า : Joint Venture


"กิจการร่วมค้า" เกิดจากการรวมตัวของหน่วยธุรกิจ 2 หน่วยขึ้นไป แต่ในการรวมตัวกันนั้นมีข้อแม้ว่า จะต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายเป็นนิติบุคคล(หรือจะเป็นทั้งสองฝ่ายก็ได้) ซึ่งในขั้นตอนการดำเนินกิจการ ทุกหน่วยธุรกิจ จะต้องแชร์ทรัพย์กรของตัวเอง เช่น มาส่งคนมาลงแรงทำงาน รึอาจลงเงินทุน หรือไม่ก็ลงเทคโนโลยีของบริษัทตัวเอง มาร่วมกันทำกิจการ

กิจการร่วมค้าทั้งสองหน่วยธุรกิจที่รวมกันนี้จะเดินจูงมือกันไปจดเป็นหน่วยภาษีใหม่ขึ้นมาเพื่อเสียภาษี เวลาไปทำธุรกิจกับบุคคลภายนอกก็ต้องขึ้นต้นสัญญาว่า "กิจการร่วมค้า" ส่วนเรื่องของขอบเขตการรับผิดชอบ กรณีที่เกิดปัญหาระหว่างการดำเนินงาน ทั้งสองหน่วยธุรกิจจะต้องรับผิดร่วมกัน ซึ่งพอจบงาน ทั้งสองฝ่ายก็แยกกันไป

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเสือไทยการก่อสร้างจำกัด ร่วมกับ บริษัทคุณหมีคอนสตรักชัน เข้าทำสัญญา"กิจการร่วมค้า" รับโปรเจ็คทำถนนจากกรมทางหลวง มูลค่า 1400 ล้านบาท กำหนดเวลา 4 ปีแล้วเสร็จ หากเกิดทำงานไม่แล้วเสร็จภายใน 4 ปี ทั้งสองบริษัทต้องร่วมรับผิดชอบค่าเสียหายในการดำเนินงานล่าช้า แต่พอจบงาน ทั้งสองบริษัทก็แบ่งกำไรกันที่เกิดขั้นจากการดำเนินงานรวม แล้วก็แยกย้ายจากกันไป

กิจการร่วมค้า จะเป็นหน่วยภาษีใหม่ แยกจากของแต่บริษัทเดิม ทำให้มีข้อดีคือ ได้รับการยกเว้นภาษีจากเงินปันผลจากการดำเนินงานของกิจการร่วมค้า ( คือไม่เอากำไรมาเสียภาษีรอบสองในบริษัทหลัก ) และถ้าโครงการที่ทำร่วมกันนั้นขาดทุน ก็ไม่ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ข้อเสียก็คือ ผลจากการขาดทุนของโครงการในกิจการร่วมค้า จะไปขอหักเป็นค่าใช้จ่ายในการยื่นแบบ ภ.ง.ด 50 ของโครงการอื่นๆของบริษัทเดิมไม่ได้

4) กิจการค้าร่วม : Consortium


"กิจการค้าร่วม" (สลับกันนิดหน่อยกับ Joint venture) ก็เกิดจากการรวมตัวของหน่วยธุรกิจ 2 หน่วยขึ้นไป มาร่วมทำกิจการด้วยกัน โดยในสัญญาจะแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบของแต่ละฝ่ายอย่าง"ชัดเจน" แบ่งค่าตอบแทนของแต่ละฝ่ายอย่าง"ชัดเจน" พอในการดำเนินงานแต่ละคนก็จะใช้ความชำนาญความสามารถของตนเพื่อให้โครงการที่ร่วมกันทำสำเร็จลุล่วง และไม่มีการจดหน่วยภาษีใหม่ร่วมกันเหมือนแบบ joint venture ทำให้การเสียภาษีก็แยกของใครของมัน กำไร/ขาดทุนก็เป็นของใครของมัน

ตัวอย่างของ consortium เช่น บริษัทเสือใหญ่คอมพิวเตอร์ ร่วมกับ บริษัทคุณหมีเน็ตเวิร์ค ร่วมกันทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ในการขายและพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ในชื่อ " กิจการค้าร่วมเสือใหญ่คุณหมี " ในตอนดำเนินงาน บริษัทเสือใหญ่ก็รับผิดชอบขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ส่วน บริษัทคุณหมีก็รับผิดชอบทำหน้าที่ติดตั้งระบบไป แต่ปรากฏว่าเกิดความเสียหายจากการติดตั้งระบบที่ไม่ได้เกิดจากตัวอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ดังนั้นทางบริษัทคุณหมีต้องเป็นคนรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

ด้วยเหตุนี้ consortium จึงเหมือนการที่สองบริษัทจูงมือมาทำโครงการ แต่แบ่งแยกหน้าที่กันชัดเจน ถ้างานใครมีปัญหา คนนั้นก็เป็นคนรับผิดชอบในปัญหานั้นเอง จะกำไรหรือขาดทุนก็เป็นเรื่องของแต่ละคน การเสียภาษีก็แยกของใครของมัน ไม่มีการรวมกำไร/ขาดทุนของสมาชิกใน consortium นั้นๆ

ถ้าถามว่า เราควรเลือกรูปแบบธุรกิจอันใหนดี ก็ต้องมาชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของแต่ละแบบ การเลือกที่จะเป็นธุรกิจแบบบุคคลธรรมดานั้นมีข้อดีตรงไม่ต้องจัดการเรื่องการทำงบบัญชีการเงินให้ละเอียดมากนัก เพียงแต่เก็บหลักฐานเพื่อยื่นภาษีให้ครบถ้วนก็เพียงพอ แต่หากยิ่งมีรายรับเยอะขึ้นๆจะทำให้ต้องเสียภาษีตามลำดับขึ้นสูงขึ้น

ส่วนพวกนิติบุคคล จะยุ่งยากตรงที่ต้องทำเอกสารค่อยข้างยุ่งยาก ต้องทำงบการเงิน ส่งให้กรมการค้าและกรมสรรพากร แต่ข้อดีคือ เงินเสียภาษีนั้นคิดมาจากกำไร คือรายรับจะถูกหักต้นทุนค่าใช้จ่ายก่อนที่จะมาคำนวณภาษี และถ้ากำไรมากๆ อัตราการเสียภาษีจะน้อยกว่าแบบบุคคลธรรมดา

สรุปข้อดีข้อเสียเป็นตารางให้ดูง่ายๆกันดีกว่า  แต่ข้อมูลมีไม่ครอบคลุมถึงประเภท Joint Venture และ Consortium  นะ (ตารางสรุป เป็นข้อมูลจากเพจ TaxBugnoms เพจเกี่ยวกับเรื่องของภาษี นี่อ่านง่าย น่าสนใจ ลองเข้าไปดูกันนะครับ )


ถ้าผู้อ่านพอจะเข้าใจการแบ่งประเภทของผู้เสียภาษีกันแล้ว  น่าจะมองเห็นแล้วว่า ตัวธุรกิจที่เราทำ ควรจะใช้การเสียภาษีแบบใหน  นี่เป็นหัวใจหลักของบทความนี้ที่จะสื่อครับ

รออ่านบทความเรื่องภาษีกับ SMEs ในบทต่อไปนะครับ  

0 Comment:

แสดงความคิดเห็น