29 มีนาคม 2556

NEC-CU #3.2 แผนธุรกิจ

04:53 Posted by attaphon singhakiree No comments

บทความนี้ขอเล่าต่อเกี่ยวกับเรื่องการเขียนแผนธุรกิจที่ค้างในตอนที่ 1 นะครับ  ในส่วนที่เหลือของตอนที่ 2 นี้จะเน้นเป็นการเขียนรายละเอียดของตัวธุรกิจ เช่น Vision Mission Value ฯ ซึ่งในห้องเรียนอธิบายหัวข้อต่างๆและลองให้แต่ละคนฝึกเขียนให้เข้ากับแบบในธุรกิจของตน

ผมเคยสงสัยว่า ในการทำธุรกิจ การจะตั้งบริษัทเราจะมี Vision Mission Value ไปทำไม  ปกติเห็นธุรกิจบางตัวไม่ได้มีเรื่องพวกนี้ก็ยังดำเนินงานต่อไปได้  ไม่มีก็น่าจะได้รึเปล่า ?

ความจริงแล้ว ถ้าเราจะทำธุรกิจคนเดียว บริหารคนเดียว all in one ตรงนี้อาจไม่จำเป็น แต่หากว่าเรามีทีมงาน เรามีลูกน้อง นั่นหมายถึงธุรกิจเราประกอบด้วยหลายคน หลายความคิด แล้วอยากจะให้คนในทีมคิดและทำให้ไปในทิศทางเดียวกัน เราจึงควรมานั่ง Set เรื่อง Vision Mission Value ของธุรกิจว่าจะเป็นไปอย่างไร  เพื่อทำความเข้าใจให้ทุกคนเข้าใจตรงกันและคิดในกรอบเดียวกันว่าเราทั้งหมดจะพาธุรกิจก้าวไปในทิศทางใหน 


คำอธิบายในการเขียนหัวข้อต่างๆ :

Values  คือ คุณค่าที่ธุรกิจเราสร้างให้คนที่เกี่ยวข้อง และต้องทำได้ดีกว่าที่คนอื่นทำ  ยกตัวอย่างเช่น  บริษัท Tesla  Motors ซึ่งเป็นผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งคุณค่าที่บริษัทสร้างคือ ต้องการสร้างยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้งานได้จริง  ทำให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ไม่ต้องพึ่งพลังงานเชื้อเพลิง หรือ ก๊าซธรรมชาติที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน 

Vision : คือ สิ่งที่องค์กรอยากจะเป็น  แผนในอนาคตที่บอกว่าองค์กรจะไปอยู่ตรงจุดใหน มองเป็นแผนระยะยาว 3 ปีถึง 5 ปี เช่น จะขยายกิจการต่อ หรือ จะลดขนาดของกิจการส่วนหนึ่งลงภายใน 2 ปี เป็นต้น การตั้ง Vision เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนด "กลยุทธ์ระดับองค์กร"
อธิบายเพิ่มเติม : กลยุทธ์ระดับองค์กร (Corporate Level Strategy) คือ การกำหนดทิศทางขององค์กรซึ่งใช้ในการเขียน Vision มี 3 ทิศทางคือ
  • โตแบบขยายตัว ( Growth Strategies )
  • ทำงานคงที่ตามแผนเดิม ( Stability Strategies )
  • เลิกกิจการ ( Retrenchment Strategies )
สรุปคือ จะขยายต่อ หรือ อยู่เฉยๆ หรือ จะเลิกไป

Mission : สิ่งที่ต้องทำเพื่อที่จะบรรลุ Vision ที่ตั้งไว้ เช่น หากเราตั้ง Vision ไว้ว่าจะทำให้กำไรของบริษัทเพิ่มมากขึ้น  Mission ของเราอาจเป็นการศึกษาหาวิธีลดต้นทุนในการผลิตหรือการหาลูกค้าใหม่ เป็นต้น การตั้ง Mission ถือเป็นการกำหนด "กลยุทธ์ระดับธุรกิจ"

อธิบายเพิ่มเติม : กลยุทธ์ระดับธุรกิจ (Business Level Strategy) คือ แนวทางในการทำตามทิศทางที่ตั้งไว้ ยกตัวอย่างเช่น 3 กลยุทธนี้
1) ลดต้นทุน Cost
2) ทำให้แตกต่าง
3) ลงเล่นตลาดเฉพาะกลุ่ม  (Niche Market)

ข้อมูลเสริม : การเขียน Business strategy ให้ยึดตามหลัก 4Ps – 4Cs เป็นโครงสร้างในการเขียน ( 4Ps เป็นมุมของผู้ประกอบการ  ส่วน 4Cs เป็นมุมของลูกค้าที่ได้รับบริการ)
  • Product  <=> Customer or Service
  • Price <=> Cost for customer
  • Place  <=> Convenience
  • Promotion <=> Communication
เช่น น้ำดื่มเอบีซีต้องการใช้กลยุทธลดตุ้นทุน ก็จะอ้างอิง 4Ps – 4Cs ในเรื่อง Product ว่าใช้ขวดแบบบางขึ้น และทำเรื่อง Promotion - Communication กับลูกค้าว่า เป็น น้ำดื่มที่ช่วยลดโลกร้อนเพราะขวดบางใช้พลาสติกน้อย

Objective : คือ แนวทางในการทำตามทิศทางในระยะเวลาสั้นๆไม่นานเกิน 1 ปี ( Mission จะใช้เวลาทำนานกว่า ) เช่น  เราซื้อที่ดินผืนใหม่เพื่อขยายโรงงานภายในปีนี้ เป็นต้น 

----------- (2) -----------

ในเวลาที่เราเขียน vision mission value เราอาจไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เขียนออกมาเราเขียนถูกต้องใหม เราตั้งเป้าหมายเกินความจริงไปรึเปล่า จะทำได้จริงหรือไม่ เพิ่อขจัดความไม่มั่นใจนี้ เราจะมาเรียนรู้เครื่องมืออีกตัวหนึ่งที่จะช่วยให้เราเขียนแผนธุรกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้นครับ

SMART Target : เป็นเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์สิ่งที่เราตั้งเป้าหมายว่าสามารถทำได้จริง และสามารถวัดผลได้คล้ายๆตั้ง KPI ในเชิงธุรกิจ  เราใช้ SMART Target  มาช่วยในการกำหนด Vision , Mission และ Objective เพื่อไม่ให้เกิดการตั้งเป้าหมายสูงเกินไปจนทำไม่ได้ หรือตั้งเป้าหมายต่ำเกินไปจนไม่เกิดการพัฒนา

พวก Target  จะใช้ตัวเลขเป็นหลักในการตั้งเป้าหมาย  โดยให้เราตั้งตัวเลขจาก  Mission หรือ Objective ที่เราเขียนออกมาก่อนหน้านี้ ทำให้ออกมาเป็นตัวเลข เพื่อที่วัด performance ของทั้งสามอย่างนี้ออกมาให้ได้ เพื่อจะทำให้สิ่งที่เป็นนามธรรมกลายเป็นรูปธรรมและวัดค่าได้  เช่น
  • ยอดขาย 
  • กำไรขั้นต้น
  • ค่าจ้าง  ค่าใช้จ่าย
  • ความพึงพอใจ
  • จำนวนของที่ผลิต
  • ของเสีย / waste
  • follower ใน social media
  • จำนวนลูกค้า 
  • อื่นๆ
การตั้ง Target เราจะตั้งให้ SMART ยังไง ? มีหลักการดังนี้
  • Specific : ต้องเจาะจงชัดเจน  เช่น ยอดขายข้าวแกงเดือนแรกต้องได้ 30,000 บาท 
  • Measurable : ต้องวัดค่าได้ เช่น  เรื่องสี  คนชอบเสื้อสีชมพูมากกว่าสีขาว
  • Agreeable : เป็นค่าที่เห็นด้วยร่วมกัน  เช่น ทุกคนในทีมเห็นด้วยร่วมกันในการตั้ง Target นี้
  • Realistic : ทำได้จริง
  • Time : มีระยะเวลาที่ทำเสร็จ

----------- (3) -----------

เครื่องมือตัวถัดมา  เราจะมาดูว่า Stakeholder หรือ คนที่เข้ามาเกี่ยวของกับธุรกิจของเรา  ไม่ว่าจะเป็น ลูกค้า  ลูกจ้าง  คู่แข่ง  คนที่ขายของให้เรา รัฐบาลหรือหน่วยงานต่าง และอีกหลายๆตน ฯ เราจะต้องให้ความสำคัญกับใครเป็นพิเศษ  เพื่อที่ธุรกิจเราจะเน้นให้ความสำคัญกับคนหรือกลุ่มคนนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง  เราใช้ Stakeholder analysis  ใช้วิเคราะห์คนที่มาเกี่ยวข้องกับธุรกิจเราครับ



จากรูป เราแบ่ง stakeholder ออกเป็น 4 กลุ่ม
กลุ่ม A : Minimal effort เราแค่ให้ข้อมูลแก่คนกลุ่มนี้ก็พอ
กลุ่ม B : Keep informed  เป็นรายเล็ก รายย่อย ดูแลบ้าง เป็น cash flow ให้กับธุรกิจ
กลุ่ม C : Keep satisfied  เจอกันไม่บ่อยแต่กำไรเยอะ  แวะมาซื้อบ้างแต่ซื้อทีเป็นล็อตใหญ่
กลุ่ม D : Key Player เป็นคนที่ต้องทุ่มเทดูแลเขาเยอะ ๆ พวกลูกค้ารายใหญ่ที่ซื้อบ่อย

Stakeholder Analysis เครื่องมือนี้ใช้งานไม่ยาก โดยการลิสต์รายชื่อลูกค้าของเรา  แล้วเอาไปใส่ในช่อง A B C D โดยแบ่งกลุ่มลูกค้าจาก  อำนาจการซื้อ และ จำนวนความบ่อยครั้งในการติดต่อกับเรา  เราก็พอที่จะ focus ว่า ลูกค้ารายใหน เป็น Key Player ของเรา  คนใหนที่เราต้องใส่ใจเค้ามากๆหน่อย ให้มากกว่าคนอื่น เพราะเป็นคนทำกำไรให้ธุรกิจคุณมากที่สุด

ในห้องเรียนมีคนแอบเเซว จริงๆ ลูกค้าไม่ว่ามาจากทางใหน เราก็รับหมดค้าบบบ ^ ^

เมื่อทำธุรกิจกันแล้ว เราเห็นมีเงิน cash flow เข้ามาในธุรกิจเราเรื่อยๆ  เอ…  แล้วตอนนี้เราได้กำไรจากที่ทำธุรกิจหรือยังนะ ?  จุดคุ้มทุน (Break even point) ของธุรกิจเรา มันอยู่ตรงใหนนะ ? ขออธิบายการหาจุดคุ้มทุน เป็นโจทย์ตามรูปเลยละกันครับ  โจทย์ง่ายๆที่น่าจะพอทำให้เห็นภาพเอาไปใช้กับธุรกิจครับ




หลักของการหา จุดคุ้มทุนก็คือ เราต้องแยกต้นทุนออกมาให้ได้ (สมมุติว่าคิดเป็นรายเดือนตามรูป)
  • ตุ้นทุนคงที่  Fixed cost : คือ รายจ่ายที่ไม่ว่าเราจะขายของได้หรือไม่ เราก็ต้องจ่ายทุกๆเดือน เช่น ค่าเช่าร้าน ค่าจ้างพนักงานขายในร้าน ค่าน้ำค่าไฟ
  • ต้นทุนผันแปร Variable cost : คือ รายจ่ายที่มีผลต่อยอดขายสินค้า  เช่น วัตถุดิบทำขนมเค้ก  ยิ่งเรามีต้นทุนตัวนี้มาก เราก็สามารถทำขนมเค้กได้มาก
เมื่อเราแยกรายจ่ายออกเป็นสองแบบได้แล้ว  ก็เอาไปใส่ในสูตรคำนวนจุดคุ้มทุน  ก็จะรู้ว่าในเดือนนี้เราต้องขายของให้ได้จำนวนเท่าใด  ต่ำกว่าจำนวนนี้จะขาดทุน  ขายได้มากกว่าจำนวนนี้ยิ่งดีเพราะเป็นกำไร

ขอเพิ่มเติมอีกนิด  คือการคำนวน ระยะเวลาคืนทุน (Pay back Period)  โดยการดูจาก  กระแสเงินสดที่เราจ่ายลงทุนไปตอนแรก (ปีที่ 0) เราต้องใช้เวลากี่ปี  เงินถึงจะรีเทิร์นกลับมาหาเราครบ *วิธีการนี้ใช้กระแสเงินสดในการคิดนะครับ

ยกตัวอย่าง  เช่น เราเปิดบริษัทผลไม้อบแห้ง ในตอนแรกเราใช้เงินลงทุนไป 4,000,0000 บาท แต่ธุรกิจตัวนี้ ให้กระแสเงินสดเป็นรายรับกลับมาปีละ 500,000 บาท  ดังนั้น ระยะเวลาคืนทุนของผลไม้อบแห้งเท่ากับ 8 ปี

----------- (4) -----------

ขอสรุปอีกครั้งกับการเขียนแผนธุรกิจ (ในแบบของ NEC - CU) เครื่องมือที่เราเรียนรู้กันมามีดังนี้
  • เริ่มต้นเราเขียน Biz Picture เพื่ออธิบายภาพรวมตัวธุรกิจของเราเป็นรูปภาพ  เพื่อสื่อให้เข้าใจง่าย
  • ต่อมาเราเขียน SWOT เพื่อประเมิน จุดอ่อน จุดแข็ง และความได้เปรียบ/เสียเปรียบ ในการทำธุรกิจ
  • ต่อมาเราเขียน Vision Mission value และ Objective ของธุรกิจเรา  เพื่อทำให้คนในองค์กรเข้าใจว่าทิศทางการดำเนินธุรกิจในอนาคตเราจะเดินไปทางใหน  โดยเราใช้ SMART Target มาช่วยในการเขียน
  • สุดท้ายในการเขียนแผนธุรกิจ  เราลองคำนวน  จุดคุ้มทุน  และ ระยะเวลาคืนทุน  ในการทำธุรกิจเรา เพื่อประเมินว่า  ที่ทำธุรกิจมันคุ้มใหม ต้องขายของเท่าไรจึงจะรอด เป็นการประเมินว่าควรทำธุรกิจต่อใหมในด้านของการเงิน
สิ่งเหล่านี้เป็นงานที่เขียนส่งและพรีเซนต์กันในห้องเรียน NEC - CU ซึ่งในตอนท้ายจะมีอาจารย์มาคอย mentor ว่าธุรกิจเรามีจุดบกพร่องตรงใหน ซึ่งช่วยให้ผู้เริ่มต้นธุรกิจใหม่ได้เห็นช่องว่างที่เป็นปัญหาสำหรับตัวธุรกิจ

สำหรับผู้อ่านบทความสนใจอยากลองเขียนแผนธุรกิจ ก็ใช้ไกด์ไลน์ในการเขียนแผนธุรกิจตามที่สรุปนี้ได้ครับ  เขียนเสร็จลองหาผู้ที่ทำธุรกิจมานานช่วยประเมินแผนที่เราวางไว้ด้วย  จะได้มีคนช่วยตรวจสอบช่องว่างที่เป็นปัญหาของธุรกิจเราอีกทางด้วย

0 Comment:

แสดงความคิดเห็น